พอดีมีน้องๆ จากระดับมัธยมหลายท่าน inbox มาถาม จะสัมภาษณ์เกี่ยวกับอาชีพโปรแกรมเมอร์
ซึ่งผมก็ได้เขียนและตอบในเพจ ไว้เป็นที่เรียบร้อย
แต่วันนี้อยากจะรวบรวมคำถาม และคำตอบเอามาลงบล็อกที่นี้ที่เดียว
โดยบ้างคำตอบผมก็ตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็อย่างว่ากันนะครับ
(ใครสามารถแนะนำได้ ช่วยคอมเมนต์ก็ดีครับ จะได้เป็นประโยชน์ต่อน้องคนอื่นๆ)
ช่วงเข้ามหาวิทยาลัย
1) เรียนคณะไหนจบมาเป็นโปรแกรมเมอร์
เนื่องจากสมัยก่อนมีไม่กี่คณะ
แต่ปัจจุบันคณะไอทีมีเยอะมาก แนะนำไม่ถูก
ไม่ว่าจะเป็น วิทย์คอม วิศวะคอม วิศวะซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ
เนื้อหาวิชาเรียนแบบไหน คงต้องไปตามอ่านในหลักสูตรในแต่ละมหาวิทยาลัย
…แต่ไม่อยากให้กังวลว่าต้องเรียนคณะไหน เข้ามหาลัยไหน
เพราะมันเป็นสายที่ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ
จบจากสาขาอื่น ก็กระโดดมาเขียนโปรแกรมก็ยังได้
เช่น หมอ นักวิทย์ นักบัญชี นักร้อง ก็ยังเขียนโปรแกรมได้
ยิ่งบริษัทดังๆ ระดับโลก หลายแห่งเขาเริ่มไม่สนใจปริญญากันแหละ
หรือคนเรียนมาตรงสาย ออกไปขายของ ทำร้านกาแฟ ฯลฯ ไม่ทำงานด้านนี้ก็มีเยอะเสียด้วยซิ
แต่ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าเราเรียนทางคอมมาตรงสาย ก็จะได้เปรียบเพราะพื้นฐานต่างๆ จะถูกอัดแน่นมาถึง 4 ปี เชียวน้า….
2) จะเตรียมตัวสอบอย่างไร
อันนี้ไม่รู้จริงๆ เพราะระบบเข้ามหาวิทยาลัย มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ละยุคไม่เหมือนกัน
อันนี้คงต้องถามครูแนะแนวแหละ น่าจะให้คำตอบตรงจุด
3) รู้ตัวตอนไหนว่าชอบ เขียนโปรแกรม
มารู้ตัวตอนทำงาน?ตอนแรกผมกะจะไปสายอื่นอะนะ ไม่มาเขียนโปรแกรมด้วย
แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วสามารถยึดเป็นวิชาชีพ หาเลี้ยงตัวเองได้ โดยเราไม่เกลียดมากสุด
อีกทั้งน่าจะเหมาะกับบุคลิกตัวเองที่ชอบทำงานเบื้องหลัง ไม่ชอบออกสื่อสังคมมากนะ
แล้วเนื้องานเป็นลักษณะเปลี่ยนโปรเจคไปเรื่อยๆ รู้สึกชอบแบบนี้มากกว่า?จึงเลือกมาสายนี้
4) ช่วงระหว่างศึกษา ต้องทำงานยังไง
ไม่อยากให้กลัวเรื่องวิชาที่เรียน
เพราะปกติของการเรียนในมหาวิทยาลัย?ไม่มีที่ใดได้เกรดมาง่ายๆ ต้องอดทนครับ
บางหลักสูตรอาจมีเรียนวิชาพวกฟิสิกส์ เคมีอะไรนี้ด้วย ก็ต้องดูดีๆ
แต่ว่าวิชาหลักที่จำเป็นเลยได้แก่ คณิตศาสตร์ กับภาษาอังกฤษ ควรเก่งแหละ
ถึงไม่เก่งก็ฝึกกันได้ อย่าไปกลัว
แต่สิ่งที่ผมอยากให้น้องๆ ทราบว่า ตอนนี้ TDRI บอกว่าคนจบด้านคอม ฯ ในไทยมีเยอะ ไม่ใช่ขาดแคลน แต่ปัญหาหลักคือขาดคุณภาพ?…เพราะทุกวันนี้จบออกมาเยอะ แต่หนีไปทำอาชีพอื่นหมด ซึ่งเรื่องนี้น่าเป็นห่วงมากกว่า
เรื่องนี้ผมคงแนะนำได้แค่ว่า การพึ่งตำราเรียนอาจไม่พอเสียแล้ว การเรียนรู้นอกตำราจำเป็นมาก ยิ่งความรู้ในอินเตอร์เนตมีเยอะ
ยิ่งยุค 4.0 ทุกวันนี้เราสามารถหาคอร์สออนไลน์ฟรีๆ จากบริษัทชั้นนำ Google, Microsoft, IBM หรือจาก ม. สแตนฟอร์ด, MIT , ฮาร์วาร์ด และอื่นๆ เป็นต้น …ทำให้เราเรียนกับอาจารย์ฝรั่งตรงๆ ด้วยเนื้อหาที่ทันสมัย ตอบโจทย์ตลาดงานเป๊ะ
…แล้วไม่ต้องกลัวภาษาอังกฤษ จะไม่รู้เรื่องนะ ถ้าประโยคนั้นฟังไม่ออก ไม่เข้าใจ
ก็เอาสคริปท์ที่คอร์สเขามีให้ นำไปแปลใน Google translate เลยครับ ฝึกทีละนิดเดียวก็เก่ง
แต่อยากจะขอฝากเรื่องอิทธิบาท 4 เอาไว้เป็นแนวคิดสำหรับการฝึกเขียนโปรแกรมให้ประสบความสำเร็จ ดังรูปข้างล่าง
5) เวลาออกไปทำงาน วันๆ โปรแกรมเมอร์ทำอะไร
โปรแกรมเมอร์จะรับผิดชอบงานเขียนโค้ดตาม spec หรือ requirement
แต่สเกลงานอาจครอบคลุม มีตั้งแต่ออกแบบ เขียนโค้ด แก้บั๊ก ทดสอบ
อันนี้คร่าวๆ เพราะที่ทำงานแต่ละแห่ง เนื้อหางาน ขอบเขตความรับผิดชอบจะไม่เหมือนกัน
แถมชื่อตำแหน่งก็ยังต่างกันอีกด้วย
ถ้าทำบริษัทแนวซอฟต์แวร์เฮาส์ ที่รับจ้างผลิตซอฟต์แวร์ (เป็นงานสายตรงของโปรแกรมเมอร์เลย)
เนื้องานที่ทำ ก็ขึ้นกับโปรเจคที่ได้รับมอบหมาย
พอโปรเจคตัวหนึ่งจบ ก็ไปต่ออีกโปรเจค
หรืออาจดูแลโปรเจคเดิม support ไปเรื่อยๆ
ซึ่งอาชีพโปรแกรมเมอร์ มักจะทำงานกันเป็นทีม ทั้งภายในทีมเดียวกัน และติดต่อร่วมกับทีมอื่นอีกที
แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ไม่ใช่แนวซอฟต์แวร์เฮาส์
ก็อาจเห็นโปรแกรมเมอร์เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายไอที
อาจมีทักษะทำงานได้หลากหลาย เพื่อรองรับ user
…ประมาณอะไรก็เรียกใช้แต่ตู คนไอที
ช่วงจบออกมาทำงาน
6) คุณสมบติอาชีพนี้
- ใช้ตรรกะ ทางความคิดค่อนข้างสูง
- เป็นทั้งนักสร้างสรรค์ เพื่อสร้างผลงานให้ทันเดดไลน์ส่งงาน
- อีกทั้งต้องเป็นนักแก้ปัญหาตัวยง ไม่ว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในงานที่เราทำ หรือเอางานคนอื่นมาแก้ไข เป็นต้น
- ต้องเป็นคนที่ไม่หยุดนิ่ง เท้าต้องเต้นฟุตเวิร์คตลอดเวลา เพราะแต่ละวัน จะเจอปัญหาใหม่ ที่ไม่จำเจ ต้องรับมือได้ทัน แต่เมื่อประสบการณ์ถึงจุดหนึ่ง ก็จะพบว่าปัญหาส่วนใหญ่มันจะวนอยู่แคนี้ นานๆ ถึงจะมีปัญหาใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อนผ่านเข้ามา
- มีความกระหายเรียนรู้สิ่งๆ ใหม่ เพราะเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง
- ภาษาอังกฤษจำเป็น
- ต้องสื่อสารเพื่อนในทีม ได้รู้เรื่อง
- ทักษะทำงานเป็นทีมก็ต้องมีด้วยนะครับ
- สามารถทนต่อความเครียด แรงกดดัน เพราะงานส่วนใหญมักเร่งด่วน?เนื่องจากเจอแรงกดดันมาจากลูกค้าอีกที
- บางคนมีสกิลแก้บักในความฝัน อันนี้ห้ามลอกเลียนแบบ
7 ) การเลื่อนขั้น/เงินเดือน
รายละเอียดตำแหน่งนี้ ถ้าเป็นในหน่วยของรัฐ อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ
ถ้าเอกชน ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ
โดยทริคจะให้ดูอุปสงค์ อุปทานในตลาดแรงงาน เช่น เทคโนโลยีตัวไหนเป็นที่ต้องการสูง
แต่ตลาดยังขาดแคลน ถ้าเราเป็นละก็ …ย่อมเรียกร้องเงินเดือนได้มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
ที่สำคัญน้องๆ ต้องรู้จักเพิ่มทักษะ ก็จะทำให้โปรไฟล์ตนเองได้เปรียบคนอื่น
ยิ่งงานโปรแกรมเมอร์ หรือเขียนโปรแกรม มันขาดแคลนในตลาดอย่างมาก (ดูข้อมูลปี 2561 ดังรูปข้างล่าง)? ซึ่งใครมีทักษะที่หายาก เป็นที่ต้องการตัวสูง ย่อมได้เปรียบอยู่แล้ว
สำหรับเรตเงินเดือน ส่วนตัวเคยเห็นต่ำกว่าหลักหมื่น จนกระทั้งถึงแสนก็มีมาแล้ว
อยากรู้ลึกคงต้องไปถามพวกบริษัท Recruitment เขามีข้อมูลเงินเดือนอยู่ครับ
เงินเดือนสายนี้บอกตรงๆ มันกว้างมาก บางคนไม่ถึงหมื่นจนไม่กล้าบอกใคร หรือบางคนแตะเฉียดแสนจนน่าอิจฉา เรื่องนี้มักดราม่าถ้าจะให้ความเห็น เลยขอยกคำพูด อาจาย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มาเป็นแรงบันดาลเพื่อพัฒนาตัวเองแล้วกัน
“อย่าไปคิดเพ้อเจ้อ ไม่มีเทพพระเจ้าองค์ใดมาประทานเงินให้คุณ มันอยู่ที่ความเอาจริงเอาจริงของชีวิตคุณ ทุกศาสตร์ ทุกสาขาอาชีพ มีคนที่เก่งและรวยที่สุด เขาทำได้เพราะตัวเขาเอง ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดมาช่วย เด็กทุกคนอยากยิ่งใหญ่ต้องเหนื่อยกว่าคนอื่น ต้องสู้มากกว่าคนอื่น ทำงานมากกว่าคนอื่น ต้องทำความฝันด้วยใจของคุณ อดทน ยอมตายเพื่อทำอาชีพนี้ เค้าทนได้ เราก็ทนได้ เค้ามีกิน เราก็มีกินได้ ไปสู้ซะ ! “
ถ้าใครสนใจ อยากไต๋ระดับเงินเดือน
ก็ลองอ่านกระทูนี้ในพันทิปดูได้ครับ??https://pantip.com/topic/36057197
มาพูดถึงการเลื่อนขั้น
- ก็แล้วแต่บริษัทจะเมตตา เขามีเกณฑ์และเงื่อนไขอยู่
- หรือไม่ก็ย้ายงานอัพเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวห้ามลอกเลียนแบบ
8) ส่วนเรื่องภาษาเขียนโปรแกรมที่ใช้
อันนี้คงแนะนำให้พยายามค้นหาในเว็บหางาน ว่าตอนนี้ตลาดงานต้องการคนทักษะด้านไหน เราจะได้จับทางถูก เพราะเทคโนโลยีบางทีกาลเวลาเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนไป๊ ผมเลยไม่อยากเป็นหมอลักษณ์ฟันธงอะไรมาก
- แต่ถ้าอยู่ ป.1 ถึง ม.6 คงแนะภาษา Python เพราะเป็นภาษาหลักในวิชาบังคับของกระทรวงศึกษาชื่อ “วิทยาการคำนวณ”
- ในมหาวิทยาลัย คิดว่าหนีไม่พ้น C/C++ กับ Java แนวๆ นี้ ที่นิยมสอนกัน
9) วัฒนธรรมองค์กร/สังคมที่เจอ
- แล้วแต่ละที่นะ ไม่เหมือนกัน ไม่รู้จะตอบยังไง
- แต่ที่เหมือนกันคือ ส่วนใหญ่มักมาสาย กลับดึก
- โอทีก็……ไม่บอกดีกว่า เดียวสะเทือนใจ
- และอยากได้แปลกใจ ถ้าคุยกับคนกลุ่มนี้ไม่รู้เรื่อง เวลาเจอศัพท์เทคนิคต่างๆ
ว่าไปแล้วสังคมการทำงาน ก็มีแต่ตั้งอยู่ในขุมนรก หรืออยู่บนสวรรค์
- บางคนอาจเจองานหนัก เจอลูกค้าด่า เจอเกมการเมือง เงินน้อย ทำงานโต้รุ่งถึงเช้า ไม่ได้โอทีก็มี (แค่ได้สิทธิเข้างานสาย)
- หรือบางคนอยู่บริษัทฝรั่ง ที่จ่ายหนัก แต่งานไม่หนักตาม
- หรืออยู่บริษัทที่ทำงานเป็นระบบ งานออกมาโคตรดี ลูกค้าชม
เรื่องสังคมในที่ทำงานนี้ เป็นอีกเรื่องที่น่าจะดราม่าง่ายๆ เพราะงานทุกอย่าง ทุกอาชีพ มันก็มีจุดรันทด จุดมืด มุมบอด แต่สุดท้ายก็อยากให้นึกถึงในหลวงร. 9 ที่ท่านเคยตรัสว่า
“เศษเหล็ก” ไม่มีคุณค่ามากนัก จะกลายมาเป็น “ดาบที่งดงาม” นั้น
..ต้องผ่าน “อุปสรรค” มามากมาย ทั้งความ “เจ็บปวด” ต่างๆ กว่าจะประสบความสำเร็จ
…..ดังนั้น ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า …
?ใครที่ไม่เคยถูกตี ถูกทุบ เจอเรื่องเลวร้ายในชีวิตมาเลยนั้น จงอย่าได้หาญคิดทำการใหญ่?
10) การสมัครงานสำหรับเด็กใหม่
ส่วนเรื่องเด็กใหม่ เวลาสมัครงาน อย่าเพิ่งไปกลัว
เวลาเห็นสมัครงานโพสต์ว่าต้องการคนทำโน่นนี้
เขียนว่าต้องการคนมีประสบการณ์ ภาษาอังกฤษได้
เพราะบางทีเจอเด็กใหม่เขาก็รับแหละ แล้วเอาเราไปฝึกทีหลังก็มี แต่เขาไม่ได้ระบุไว้โต้งๆ …ต้องกล้าเสี่ยงนิดหนึ่งงงงง
หรือถ้าไม่มั่นใจ ก็เอาโปรเจคที่ทำ งานที่เคยฝึก หรือใบ cert ต่างๆ ที่สอบผ่านจากคอร์สออนไลน์ มาประกอบตอนยื่นสมัครงานก็ช่วยได้ครับ
11) อนาคตโปรแกรมเมอร์
อนาคตโปรแกรมเมอร์ รู้แค่เขียนโปรแกรมอย่างเดียว คงหนีไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง
อยากมีรายได้สูง เป็นส่วนหนึ่งช่วยกระตุ้น GDP ของประเทศ
ก็ควรเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น BigData, IoT , AI, Block chain?และอื่นๆ
พวกนี้มีพูดในแผนปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะผูกพันเราไปอีก 20 ปีข้างหน้าของบ้านเราด้วยครับ (บังคับใช้แล้วด้วย)
ซึ่งชาติกำลังขาดคนด้านนี้เยอะครับ
…นี้ยังรวมไปถึงพวก soft skill ที่ไม่เกี่ยวกับสายอาชีพ ที่โปรแกรมเมอร์ควรมี เช่น การนำเสนอ การพูด ความเป็นผู้นำ การตัดสิน ฯลฯ ก็จำเป็น
ก่อนทิ้งท้ายจากกัน ลองมาดูสรุปวิเคราะห์ตลาดไอทีด้วยการวิเคราะห์ SWOT กันดีกว่า
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านครับ
?เขียนโดยแอดมินโฮ โอน้อยออก
Please like Fanpage