คนไอทีอย่างเรา สามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขอในหลวง ร.9 มาใช้ได้หรือไม่?
ในมุมความเข้าใจของผม จะขอยกตัวอย่าง
ถ้าสมมติว่าเรามีเป้าหมายอยากเป็นโปรแกรมเมอร์
จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะฝึกเขียนโปรแกรม
แต่ก่อนอื่นต้องตอบคำถาม 5 ข้อนี้ ให้ได้ก่อน
1) ทำไมเราถึงอยากทำงานด้านนี้?
ถ้าตอบว่า เพราะเขียนโปรแกรมแล้วเพลินดี ถนัดมากกว่างานด้านอื่น ฯลฯ
ถ้าตอบข้อนี้ได้ …แสดงว่าเรามีคำว่า “มีเหตุผล”
2) จะฝึกฝนไปจนถึงเมื่อไร?
ถ้าตอบว่า ฝึกทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งเขียนโปรแกรม งานเน็ตเวิร์ค งาน support งาน tester ทำครอบจักรวาล ฯลฯ …อันนี้เรียกว่าไม่พอประมาณ
แต่ถ้าตอบว่า ฝึกเฉพาะเขียนแอพฯ บนมือถือก่อน ขอให้ได้สักภาษาหนึ่ง พอเป็นแล้วเดี่ยวไปฝึกเขียนเว็บต่อ …แสดงว่ารู้จักคำว่า “พอประมาณ”
3) ถ้าวันหนึ่งมีเทคโนโลยีเกิดใหม่ ที่มาแย่งงานเรา จะทำอย่างไร?
ถ้าตอบว่า ไม่รู้ ไม่เคยคิด …แสดงว่าเราไม่มีแผนสำรอง เอาไว้รับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไว
ถ้าตอบว่า มีแผนในใจ เช่น อาจไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม พัฒนาทักษะอื่นเสริมเข้ามาที่ไม่ใช่แค่เขียนโปรแกรม (Soft skill) ฯลฯ…แสดงว่าเราเข้าใจคำว่า “มีภูมิคุ้มกันที่ดี”
4) เคยศึกษาหาความรู้อื่นๆ นอกตำราเรียน หรือไม่?
ถ้าตอบว่า ศึกษาอยู่เป็นนิด เว็บอย่าง Google, stackoverflow ฯลฯ ใช้ประจำ ..แสดงว่าเรามีคำว่า “ความรู้”
5) ถ้าเกิดเรามีโค้ดลูกค้าอยู่ในเครื่องตัวเอง จะนำไปแจกต่อหรือไม่?
ถ้าตอบว่า ไม่ทำเด็ดขาด มันผิดจรรยาบรรณ ….แสดงว่าเรามีคำว่า “คุณธรรม”
+++สรุป+++
จากข้อ 1, 2, 3 คำตอบที่ได้คือ “พอประมาณ”, “มีเหตุผล” และ “มีภูมิคุ้มกันที่ดี” … อันนี้เรียกว่า “3 ห่วง”
จากข้อ 4, 5 คำตอบที่ได้คือ “ความรู้” และ “คุณธรรม” …อันนี้เรียกว่า “2 เงื่อนไข”
ซึ่งคำว่า “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” คือประโยคทองที่เป็นนิยามสั้นๆ จนคุ้นหูของคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง
ศาสตร์พระราชาที่ทางยูเนสโก ก็ยังเชิดชูสู่พิมพ์เขียวพัฒนาโลก
ศาสตร์ที่พระองค์ท่าน ทรงชี้เป็นแนวทางและปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับ ให้ดำเนินทางสายกลาง
ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้
ผู้เขียนบทความ เพจโปรแกรมเมอร์ไทย
เขียนโดย แอดมินโฮ โอน้อยออก